บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอน ในรายวิชา อินเตอร์เน็ตมนชีวิตประจำวัน (00012006)กลุ่มเรียนที่ 20 วันศุกร์ เวลา 13.00 - 15.30 น. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

หุ่นยนต์ดาวินชี่

เมื่อหุ่นยนต์ช่วยชีวิตคน....
เคยได้ยินไหมว่า หุ่นยนต์ผ่าตัดรักษาชีวิตคนได้.......
เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวล้ำไปไกล มีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ มากมายมาช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์ด้านต่างๆ
อย่างการผ่าตัด เมื่อก่อนต้องอาศัยหมอผู้ชำนาญเฉพาะทางเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ คุณหมอเองก็มีตัวช่วยเป็นหุ่นยนต์ในการรักษาคน

ดาวินชี่..เครื่องจักรกลราคาประมาณ 1 ล้านปอนด์

ดาวินชี เป็นเครื่องจักรกลราคาประมาณ 1 ล้านปอนด์ของโรงพยาบาลกายส์ (Guy's Hospital) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ผ่าตัดบนเกาะอังกฤษที่มีอยู่เพียง 2 ตัว ได้ปฏิบัติภารกิจครั้งแรกที่แสนละเอียดอ่อน อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนด้วยแขนกลทั้ง 2 ข้างนำ ไต ออกจากร่างของพอลลีน เพย์น (Pauline Payne) และนำไปใส่ให้กับเรย์มอนด์ แจ็กสัน (Raymond Jackson) คู่หมั้นของเธอที่กำลังป่วยหนัก ก่อนหน้านี้ หุ่นยนต์ดาวินชีเคยลงมือปฏิบัติการผ่าตัดมาแล้ว บนเกาะอังกฤษ โดยได้เคลื่อนย้ายอวัยวะที่เจ็บป่วยออกมาจากร่างกายและศัลยกรรมกลับคืน แต่การปลูกถ่ายไตนับเป็นของใหม่ ซึ่ง โพรการ์ ดาสกุปตา (Prokar Dasgupta) ผู้นำทีมที่ปรึกษาศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะของโรงพยาบาลกายส์ได้เรียกใช้บริการ ดาวินชี เป็นครั้งแรก และนับว่าเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะโดยหุ่นยนต์เป็นครั้งแรกบนเกาะอังกฤษ

หลายๆคนจะรู้จัก "ดาวินชี่" หรือ "Da Vinci Surgical System" ในนามของ "หุ่นยนต์ผ่าตัดหัวใจ" ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับของศัลยแพทย์ผู้ผ่านการฝึกอบรมการใช้จนเกิดความชำนาญ โดยมีแขนดาวินชี่เปรียบเสมือนมือผ่าตัดที่ต้องอาศัยการควบคุมโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เมืองไทยก็มี หมอหุ่นยนต์..ดาวินชี่

ในโรงพยาบาลหลายแห่งมีการนำหุ่นยนต์ดาวินชี่ไปใช้ในกระบวนการผ่าตัดรักษาคนไข้ ซึ่งโรงพยาบาลในเมืองไทยก็ไม่ล้าหลังกว่าใครเขา มีการเอาเข้ามาใช้แล้วเหมือนกันครับ เช่น โรงพยาบาลศิริราช นำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรงพยาบาลกรุงเทพใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดหัวใจ
นพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหาร ศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ เล่าให้ฟังว่า ทางโรงพยาบาลนำหุ่นยนต์ดาวินชี่เข้ามาช่วยในการผ่าตัดหัวใจผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางโรงพยาบาลเริ่มใช้ "ดาวินชี่" เข้ามาช่วยในการผ่าตัดหัวใจผู้ป่วย ซึ่งหุ่นยนต์นี้มีข้อดีทำให้สะดวก และ ประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย
"การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ทำให้ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยและลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด รวมทั้งสามารถลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด สามารถรับประทานอาหารได้ในวันที่ 2 หลังการผ่าตัด ระดับน้ำตาลและความดันโลหิตเป็นปกติและพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดเป็นเวลา ประมาณ 5 วัน ก็สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านต่อได้”
หุ่นยนต์ดาวินชี่..ไม่ใช่แค่ผ่าตัดหัวใจยังสามารถใช้ประโยชน์ในการผ่าตัดช่องท้องในโรคที่เกิดกับอวัยวะภายในหลายๆ ส่วน เช่น ถุงน้ำดี ลำไส้ กระเพาะ ต่อมหมวกไตและต่อมลูกหมาก ซึ่งนพ.ชาตรี ดวงเนตรได้กล่าวว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำความเข้าใจและให้ข้อมูลก่อนการผ่าตัดมีความจำเป็น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับรู้และมีโอกาสเลือกวิธีการผ่าตัดตามความเห็นชอบด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ดาวินชี่อาจสูงกว่าการผ่าตัดแบบปกติบ้างเล็กน้อย แต่จะช่วยผู้ป่วยลดค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัดได้มาก เช่น ใช้ยาน้อยลง จำนวนวันที่พักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายโดยรวมแล้วก็ไม่สูงกว่ากัน

หลักการทำงานและส่วนประกอบต่างๆของหุ่นยนต์ดาวินชี่

หุ่นยนต์ดาวินชี่ ประกอบด้วย 4 แขน แต่ละแขนมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 1.5 เซนติเมตรแขนที่ 1 เป็นกล้องสำหรับส่องเข้าไปเห็นภายในระบบหัวใจได้ลึกและชัดเจน ทำให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นหัวใจของผู้ป่วยผ่านแขนข้างนี้ ขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมการผ่าตัด โดยสั่งการการเคลื่อนไหวหุ่นยนต์จากแผงควบคุมภายนอก ซึ่งควบคุมแขนอีก 3 แขนที่เหลือที่ทำหน้าที่เป็นคีม และกรรไกรขนาดจิ๋วที่หมุนได้รอบ ทิศทาง ทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้อย่างแม่นยำกว่ามือคน

MicroPets-i หุ่นยนต์จิ๋วร้องเพลงประสานเสียง


Tomy ผู้ผลิตของเล่นแดนปลาดิบโชว์ตัวหุ่นยนต์จิ๋วน่ารัก ที่สามารถร้องเพลงประสานเสียงกับหุ่นยนต์ตัวอื่นได้!!…หุ่นยนต์น่ารักรุ่นนี้ใช้ชื่อว่า MicroPets-i มีความยาวเพียง 6 เซนติเมตร วางจำหน่ายหลากหลายแบบทั้งสุนัข แมว หมี แพนด้า ฯลฯ จุดเด่นของ MicroPets-i คือการฝังเซนเซอร์ไว้ภายในเพื่อให้หุ่นสามารถเดินตามสิ่งของ หรือหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้ ที่สำคัญ MicroPets-i ยังสามารถสื่อสารกับหุ่นยนต์ตัวอื่นได้ผ่านเครือข่ายอินฟราเรด และสามารถร้องเพลงประสานเสียงร่วมกันได้ด้วย

COOKY ROBOTS หุ่นยนต์ช่วยทำอาหาร

ผลงานโดยคุณ Yuta Sugiura บัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัย Keio (เคโอ)
ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยของ JST (Japan Science and Technology Agency)
แผนก ERATO (Exploratory Research for Advanced Technology)

ใช้หุ่นยนต์เล็ก 3 ตัว ช่วยกันทำตัวละหน้าที่ อาจดูวุ่นๆ นิดหน่อย
มีจุดเด่น คือ ทำอาหารได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต้องมีการควบคุมพิเศษ
แต่ต้องนำอาหารที่กำหนดมาวางในจุดที่กำหนด และสั่งงานหุ่นยนต์ให้ทำงานตาม Timeline
[คล้ายๆ เวลาสั่งวัตถุให้ขยับในโปรแกรมทำ Presentation น่ะ]

งานนี้ถือเป็นการพัฒนาไปอีกขั้น สำหรับการนำหุ่นยนต์มาช่วยงานมนุษย์
แล้ววันนึงในอนาคต หุ่นยนต์ช่วยงานบ้านแบบในภาพยนตร์ Sci-fi จะต้องเป็นจริง!!
[อ่านบรรทัดบนนี้ ต้องทำเสียงมุ่งมั่นด้วยนะ]

แต่อนาคตก็เป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง..
ดังนั้น ณ ปัจจุบัน ทาโกะว่าฝึกทำอาหารเองสักเล็กน้อย
จะง่าย และเร็วกว่ามานั่งสั่งหุ่นยนต์ให้ทำแบบนี้เยอะเลย
แถมได้อาหารทีมีรสชาติถูกปากคนทานมากกว่าด้วยนะ

Murata หุ่นยนต์นักปั่น


Murata (Seisaku-kun) เป็นหุ่นยนต์ตัวแรกในโลกที่สามารถขี่จักรยานได้ โดยทางผู้สร้าง Murata Manufacturing ได้ออกแบบติดตั้งเซนเซอร์ถึงสี่แบบให้กับหุ่นยนต์ตัวนี้ได้แก่ Gyro เซนเซอร์สองจุดเพื่อตรวจสอบทิศทาง-ความเร็ว-ความเอียง, เซนเซอร์ Ultrasonic สำหรับตรวจจับสิ่งกีดขวาง และ เซนเซอร์ Shock ที่จะคอยสำรวจความขรุขระของพื้นผิว


หุ่นยนต์ Murata เชื่อมต่อสัญญาณกับคอมพิวเตอร์ผ่านทางสัญญาณไร้สาย (Wireless LAN) เพื่อให้ผู้บังคับสามารถสั่งการให้หุ่นยนต์ทำการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า, หยุด หรือถอยหลัง และนอกจากนั้นยังสามารถทำการโปรแกรมเส้นทางล่วงหน้าได้ด้วย

Murata เป็นหุ่นยนต์ที่มีความสูง 2 ฟุต หนัก 5 กิโล สามารถปั่นได้ความเร็วสูงสุดถึง 30 นิ้วต่อวินาที รวมถึงสามารถทรงตัวได้ดีแม้ในขนาดหยุดนิ่งอยู่กับที่, ในการทดลอง Murata สามารถทรงตัวตรงๆ ได้อย่างดีเยี่ยม โดยสามารถปั่นจักรยานอยู่บนทางที่กว้างเพียง 2 เซนติเมตรโดยไม่ตกลงมาเลย

หุ่นยนต์รถเข็นพาผู้ป่วยเคลื่อนที่

คัตสุกิวาตานาเบ ประธานบริษัทโตโยต้า กล่าวว่า หุ่นยนต์จะเป็นธุรกิจหลักของโตโยต้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำจากญี่ปุ่นรายนี้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี พ.ศ.๒๕๕๓ หุ่นยนต์ภาคสนามมากมายจะถูกผลิตออกมาช่วยงานตามโรงงาน บ้านเรือนและในเมือง และปีหน้าโตโยต้ายังมีแผนทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์ในโรงพยาบาล และโรงงานของโตโยต้าเอง รวมถึงสถานที่ หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้งานในโรงงานมานานแล้ วเช่น ใช้เชื่อม และใช้ประกอบชิ้นส่วนตามสายพานการผลิต ขณะที่หุ่นยนต์เหล่านี้ยังไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แต่ในอนาคตหุ่นยนต์จะทำงานช่วยเหลือมนุษย์อย่างเป็นอิสระ

หนึ่งในหุ่นยนต์ที่โตโยต้านำมาโชว์เมื่อสัปดาห์ก่อนเป็น หุ่นยนต์สองล้อที่ออกแบบคล้ายรถเข็นคนป่วยสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็ว ๒๐ กม./ชม. สามารถเคลื่อนที่ไปตามพื้นที่ขรุขระหรือเป็นเนินขึ้นลงโดยทรงตัวเองได้อัตโนมัติ เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับพบสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า มันจะวิ่งอ้อมไปอีกด้านทันที หุ่นยนต์แบบนี้สามารถพาผู้ป่วย และคนชราไปยังเตียงนอนได้โดยไม่ต้องมีคนคอยช่วย หุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งที่นำมาโชว์ความสามารถเป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ขนาด ๕ ฟุต นอกจากสีไวโอลินได้แล้วมันยังโยกตัวเคลื่อนไหว มีอารมณ์ร่วม ไปกับการบรรเลง (คม ชัด ลึกออนไลน์ ๑๔ ธค.๒๕๕๐ )

หุ่นยนต์ ดูแลเด็กๆ “พา เพ โร่”

หุ่นยนต์ ที่เห็นในภาพนี้ เอาไว้สำหรับให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลาน ในโรงเรียนอนุบาล
ผู้ปกครองจะมี “พา เพ โร่” ไว้เพื่อดูแลเด็กๆ ไม่ให้คลาดสายตา และจะส่งข้อความผ่านมือถือรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เจ้า “พา เพ โร่” ตัวอวบอ้วนกะปุ๊กลุก มีความสูง 38.5 เซนติเมตร และสามารถเคลื่อนไหวได้ไกล 20 เซนติเมตร ต่อวินาที

“พา เพ โร่” เป็นหุ่นยนต์ของบริษัทเอ็นอีซี บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น จับมือกับบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่างเอ็นทีที และจะเริ่มทดลองกับโรงเรียนเด็กเล็กแรกเริ่ม ในโตเกียวและยามานาชิก่อนเป็นการนำร่อง.




เห็นแล้ว อยากมีไว้ดูแลเด็กๆ สักตัวไหมคะ หน้าตาหุ่น น่ารัก คล้ายๆเด็กๆดีนะคะ :)

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร

นอกจากบุกเบิกนำพีดีเอมารับออเดอร์ลูกค้าแล้วสุกี้เอ็มเค ยังมีแนวคิดที่จะนำหุ่นยนต์บริการมาช่วยสร้างบรรยากาศภายในร้านด้วย

หุ่นยนต์อัจฉริยะตัวนี้มีชื่อว่า "ดินสอ" อยู่ระหว่างซุ่มพัฒนาโดยบริษัท ซีที เอเซีย จำกัด กลุ่มธุรกิจด้านการพัฒนาระบบสื่อสารและซอฟต์แวร์น้องใหม่ ที่หันมาเอาดีด้านการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ โดยใช้ทีมวิศวกรไทยล้วนๆ


นายนันทวิทย์ จันทร์วาววาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัท ซีที เอเซีย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มต้นพัฒนาหุ่นยนต์บริการขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนำประสบการณ์จากการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในงานสื่อสารโทรคมนาคม ผนวกกับความเชี่ยวชาญของทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่เคยประสบความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยแข่งขันในระดับโลก มาออกแบบและสร้างหุ่นยนต์บริการชื่อไทยๆ ว่า "ดินสอ"


หุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับหน้าร้านอาหาร ช่วยเสิร์ฟอาหาร ตลอดจนเป็นบริกรยกถาดอาหารไปเสิร์ฟให้แก่ลูกค้า โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบส่วนฐานของหุ่นยนต์ จากเดิมที่พัฒนาขาหุ่นยนต์ในรูปของสายพาน ซึ่งสามารถใช้งานได้ดีในทุกสภาพพื้นผิว มาเป็นล้อหมุนที่สามารถเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนที่แม้อยู่ในพื้นที่ที่คับแคบ พร้อมติดเซนเซอร์ ช่วยคำนวณองศา มุม เพิ่มหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ดินสอได้ในเดือนมิถุนายนนี้


"แม้หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นจะยังไม่เทียบเท่าหุ่นยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี และมีต้นทุนในการวิจัยสูงกว่า แต่ส่วนตัวมองกว่าเรามีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นกลไกหลักในการควบคุมหุ่นยนต์ และคิดว่าไม่เป็นรองใคร" นันทวิทย์ กล่าว


ในทางเทคนิค หุ่นยนต์จะประกอบด้วยเซนเซอร์ ทำหน้าที่แปลงสัญญาณต่าง เช่น เสียง แสง ภาพให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า นำไปประมวลผลข้อมูลและควบคุมการทำงานคล้ายสมองของมนุษย์ ส่วนระบบกลไกควบคุมการเคลื่อนไหว เช่น การหมุน การเลื่อน การกระโดด


"พวกอะไหล่และเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไปในตัวหุ่นยนต์ยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เซนเซอร์ที่มีความแม่นยำสูง หรือหน้าจอสัมผัสที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าตัวหุ่น ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูง แต่ในอนาคตเชื่อว่าหากมีการใช้งานมากขึ้น จะทำให้ราคาต้นทุนถูกลง อีกทั้งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้หากมีการเริ่มต้น" เขากล่าว


บริษัทยังมีแผนจะลงทุนในการพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์ดินสอ ออกสู่ตลาดในไตรมาสแรกของปี 2553 โดยส่งสินค้าที่เป็นหุ่นยนต์บริการให้แก่กลุ่มตลาดร้านอาหารเอ็มเค บาร์บีคิว พลาซ่า ซึ่งมีการพูดคุยไปแล้วบางส่วน ตลอดจนใช้หุ่นยนต์ในการประชาสัมพันธ์และเป็นสื่อโฆษณาที่เป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างความน่าสนใจให้แก่ตัวสินค้า โดยคาดว่าราคาขายจะอยู่ที่ตัวละ 3 ล้านบาท



นายพันธพงศ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้ประสานงานโครงการจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หุ่นยนต์ที่สามารถสื่อสารและโต้ตอบกับมนุษย์ จะเป็นนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยสร้างความแปลกใหม่และดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นในประเทศญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาหุ่นยนต์ประเภทนี้มากขึ้นเช่นกัน


สำหรับโครงการดังกล่าว สนช. ได้ให้การสนับสนุนเงินทุนแก่บริษัท ซีที เอเชีย จำกัด ภายใต้โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน จำนวนเงินไม่เกิน 1,082,000 บาท สำหรับมูลค่าโครงการรวมอยู่ที่ 3,279,000 บาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเคลื่อนที่ด้วยระบบนำร่องที่อาศัยการประมวลผลภาพ การใช้ระบบควบคุมและการสื่อสารผ่านเครือข่ายไร้สาย พร้อมทั้งอาศัยการเรียนรู้แบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเข้าใจภาษาและแสดงท่าทางตลอดจนสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้