บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอน ในรายวิชา อินเตอร์เน็ตมนชีวิตประจำวัน (00012006)กลุ่มเรียนที่ 20 วันศุกร์ เวลา 13.00 - 15.30 น. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Robot Thailand

หุ่นยนต์กู้ภัย-หุ่นยนต์เตะฟุตบอล"ฝีมือเด็กไทยคว้าแชมป์ระดับโลกอีกปี
เด็กไทยสร้างชื่อในวงการหุ่นยนต์ขึ้นอีกครั้ง สามารถคว้าแชมป์โลก 2 รายการ คือ หุ่นยนต์กู้ภัยและหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ในการแข่งขัน World Robo Cup 2010 หรือการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 ที่ปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 21-24 มิ.ย. ชัยชนะดังกล่าวถือว่าเป็นการป้องกันแชมป์ของประเทศไทย
สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกปีนี้มีการแข่งขันแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์เตะฟุตบอล (RoboCup Soccer) หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) มีผู้สมัครเข้าแข่งขันรวมทุกประเภทกว่า 3,000 คน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
ประเภททีมหุ่นยนต์กู้ภัย ปรากฏว่าทีมจากเยาวชนไทย iRAP_PRO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สร้างชื่อก้องโลกอีกครั้ง ครองแชมป์โลกติดต่อกัน 2 ปีซ้อน รักษาแชมป์โลกให้ประเทศไทยได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 5 ในการแข่งขัน ด้วยผลงานโดดเด่นโดนใจผู้ชมทั้งสนาม ทำคะแนนนำตลอดตั้งแต่รอบคัดเลือกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ พร้อมทีมจากมหาวิทยาลัยมหิดลและเทคโนโลยีราชมงคล ครองอันดับ 2 ร่วมกัน ออสเตรเลียและญี่ปุ่นรั้งอันดับ 4 และ 5
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทีมเยาวชนไทย iRAP_PRO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยได้อย่างสมศักดิ์ศรีเป็นปีที่ 2 นับเป็นการรักษาแชมป์โลกให้ประเทศไทยได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 5 ในเวทีหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก โดย iRAP_PRO ทำคะแนนนำตลอดทุกรอบการแข่งขัน รวม 740 คะแนน
ส่วนทีม BART LAB Rescue จากมหาวิทยาลัยมหิดล และทีม Success มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา มีคะแนนรวมเท่ากัน 530 คะแนน ครองอันดับ 2 ร่วมกัน ทีม CASualty จากประเทศออสเตรเลีย ตามมาเป็นอันดับ 4 พร้อมคว้ารางวัลพิเศษ หุ่นยนต์อัตโนมัติยอดเยี่ยม และหุ่นยนต์บังคับมือยอดเยี่ยม สำหรับทีม PELICAN UNITED จากประเทศญี่ปุ่น ครองอันดับ 5 พร้อมคว้ารางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม
"ในฐานะผู้สนับสนุน เอสซีจีรู้สึกภูมิใจในความสำเร็จในครั้งนี้ เพราะต่างชาติทึ่งและยอมรับในความสามารถของเยาวชนไทยมากขึ้น" ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กร เอสซีจี กล่าว
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศวันนี้ แสดงถึงศักยภาพของเยาวชนไทยอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่ทำให้เยาวชนไทยทั้ง 3 ทีม ทำคะแนนอยู่ในอันดับต้นๆ และสามารถชนะทีมต่างชาติได้ คือ การเตรียมความพร้อมเต็มที่ก่อนแข่งขัน
"การเป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่การรักษาแชมป์โลกสมัยที่ 5 เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า เพราะคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ มีความสามารถและความพร้อมสูง ทั้งยังเป็นประเทศผู้นำเทคโนโลยี เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และอิหร่าน และทีมเหล่านี้ได้ให้ความสนใจบันทึกภาพและข้อมูลทีมไทยเพื่อนำไปศึกษาด้วย ทางสมาคมฯ รู้สึกภูมิใจในความสามารถเด็กไทยอย่างมาก และจะต่อยอดการพัฒนาหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานด้านต่างๆ ในอนาคตต่อไป" ผศ.ดร.จักรกฤษณ์กล่าว
ด้านนายคฑาวุฒิ อุชชิน หรือน้องโฟม หัวหน้าทีม iRAP_PRO นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจหลังได้รับชัยชนะว่า พวกเราทุ่มเทและเตรียมความพร้อมก่อนแข่งขันมากกว่า 6 เดือน โดยทีมงานได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันเป็นอย่างดี ทำให้สามารถทำงานภายในเวลาอันสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนตัวเขาทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหุ่นยนต์
"ความยากอยู่ที่เราไม่สามารถมองเห็นหุ่นยนต์โดยตรง ต้องมองจากกล้องซึ่งมีความคลาดเคลื่อนสูง แต่เราได้ฝึกซ้อมอย่างจริงจังและสม่ำเสมอจึงทำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ การแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังชัยชนะเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน และความรู้เพิ่มเติมที่ได้จากการแลกเปลี่ยนกับทีมต่างชาติ หลังจากนี้ก็จะมีรุ่นน้องมาสานต่อองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะหุ่นยนต์ให้ดีและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น" น้องโฟมกล่าว
สำหรับการแข่งขันในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 27 ทีมจาก 12 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย อิหร่าน จีน เม็กซิโก มาเลเซีย สิงคโปร์ ปากีสถาน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทย โดยเอสซีจีสนับสนุน 2 ทีมเยาวชนไทย ได้แก่ ทีม BART LAB Rescue มหาวิทยาลัยมหิดล (แชมป์ประเทศไทย ปี 2552) และทีม iRAP_PRO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (แชมป์ประเทศไทย ปี 2551 และแชมป์โลก ปี 2552)
สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลระดับโลกรุ่นหุ่นยนต์ระดับเล็ก ที่แข่งพร้อมกันที่สิงคโปร์ มีรายงานล่าสุดว่า ทีม SKUBA จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถคว้ารางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จตามความคาดหมาย ประกาศศักดาเป็นแชมป์โลก 2 สมัยซ้อนอย่างสวยงามโดยมีผู้ร่วมเข้าแข่งขัน 10 ประเทศ รวม 18 ทีม
ทีม SKUBA แชมป์โลก ปี 2009 สามารถโค่นทีมคู่แข่งจากประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี และแชมป์โลก 4 สมัย ซีเอ็มดรากอน สหรัฐอเมริกา ด้วยคะแนน 6 ประตูต่อ 1 คว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก หรือรุ่นสมอลล์ไซส์ลีก ได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ส่วนตำแหน่งรองชนะเลิศเป็นของทีมซีเอ็มดรากอน จากสหรัฐอเมริกา และที่ 3 ทีม MRL จากอิหร่าน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น